'ไข้หวัดใหญ่สเปน' โรคระบาดที่ถูกลืมในสหรัฐอเมริกา
โรคระบาดครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตคนมหาศาลทั่วโลก และควรเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เหมือนกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การสังหารหมู่และการปฏิวัติมากมายตลอดระยะเวลา 120 ปี นับจากปี 1900 ถึงปี 2020
แต่ในสหรัฐอเมริกา นักวิชาการให้ฉายาไข้หวัดใหญ่สเปนว่า 'โรคระบาดที่ถูกลืม'
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
บริบทสหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจในปี 1918 คือภาวะสงครามใหญ่ รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางเพื่อเสริมขวัญกำลังใจทหารและพลเรือน และชวนเชื่อให้ผู้คนสนับสนุนประเทศในการทำสงคราม การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (Influenza A virus subtype H1N1) ช่วงต้นปี 1918 จึงเป็นภัยต่อขวัญกำลังใจของคนในชาติ
รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ปกปิดข่าวการระบาดช่วงแรก ทำให้โรคระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ขณะที่สเปน ซึ่งประกาศตนว่าเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไม่มีการปกปิดข่าวการระบาดใหญ่นี้ ทั้งยังเผยแพร่ความคืบหน้าการแพร่ระบาดแก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
การเปิดเผยดังกล่าวทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าสเปนคือแหล่งแพร่เชื้อ และเรียกไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ว่า 'ไข้หวัดใหญ่สเปน' (Spanish Flu) ขณะที่ในสเปนเรียกว่า 'ไข้หวัดใหญ่ฝรั่งเศส' (French Flu) เยอรมนีเรียก 'โรคระบาดรัสเซีย' (Russian Pest) รัสเซียเรียก 'ไข้หวัดจีน' (Chinese Fever) พูดง่ายๆว่า ต่างฝ่ายต่างป้ายความรับผิดชอบให้ประเทศอื่นที่ไม่ใช่ตน
ในสหรัฐ ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตถึง 6.75 แสนราย แต่คนจำนวนมากหลงลืมไข้หวัดใหญ่สเปนเสียสิ้น เพราะพุ่งเป้าความสนใจไปยังความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมากกว่า อีกทั้งเอกสารบันทึกจำนวนและข้อมูลผู้เสียชีวิตในเวลานั้นมีน้อยมาก
แคทรีน อาร์โนลด์ (Catharine Arnold) ผู้เขียนหนังสือชื่อ Pandemic 1918: Eyewitness Accounts From the Greatest Medical Holocaust in Modern History (โรคระบาดใหญ่ปี 1918: บันทึกจากพยานเห็นเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่) กล่าวว่า สมัยนั้น ผู้คนเชื่อว่าการตายจากไข้หวัดใหญ่คือความอ่อนแอ ครอบครัวจดจำการตายของสมาชิกที่ผจญเพลิง มากกว่าการตายบนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล ซึ่งสภาพศพเป็นสีน้ำเงิน อาเจียน หรือท้องร่วง บุคคลอันเป็นที่รักทำใจไม่ได้กับเรื่องนี้ และคนส่วนใหญ่เลือกที่จะลืมเสียดีกว่า
แนนซี บริสโทว์ (Nancy Bristow) ผู้เขียนหนังสือ American Pandemic: The Lost Worlds of the 1918 Influenza Epidemic (โรคระบาดใหญ่อเมริกัน: โลกที่สาบสูญของโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดปี 1918) ระบุว่า ปี 2018 เป็นช่วงครบรอบ 100 ปีไข้หวัดใหญ่สเปน แต่ไม่มีกิจกรรมร่วมรำลึกเลย มีงานบรรยายบางงานที่เชิญเธอไปพูด เพราะงานนั้นเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพอดี ราวกับว่า “โอ้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเวลาเดียวกันพอดี คุณช่วยมาบรรยายให้ฟังได้ไหม ?”
งานวิชาการสหรัฐเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สเปนที่สำคัญชิ้นแรก ชื่อว่า Epidemic and Peace (โรคระบาดและสันติภาพ) เขียนอัลเฟรด ครอสบี (Alfred Crosby) ตีพิมพ์ในปี 1976 หรือ 57 ปีหลังการระบาดสิ้นสุด ภายหลังอัลเฟรดพิมพ์ฉบับปรับปรุงในปี 1989 และตั้งชื่อใหม่ว่า America’s Forgotten Pandemic (โรคระบาดใหญ่ที่ถูกลืมในอเมริกา) ข้อความหนึ่งในหนังสือเขาสรุปได้อย่างน่าเศร้าว่า
“เวลานั้นชาวอเมริกันตื่นตัวเรื่องไข้หวัดใหญ่สเปนน้อยมาก และพวกเขาหลงลืมอย่างรวดเร็ว หลังเหตุการณ์ผ่านไปเพียงไม่นาน”
จริงอยู่ที่โรคระบาดเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์ แต่การปล่อยให้มันหายไปตามกาลเวลา จะยิ่งส่งผลร้ายต่อคนรุ่นหลัง
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
อ้างอิง
https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/1918-pandemic-h1n1.html
https://www.history.com/topics/world-war-i/1918-flu-pandemic
https://www.nytimes.com/2020/05/14/business/1918-flu-memorials.html
#ไข้หวัดใหญ่สเปน #spanishflu #gypzyworld
Comments